บรรณฐาน

บรรณฐานเดิม

บรรณฐานเดิมนี้ เป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบในวัดทุกแห่งตั้งแต่โบราณก็ว่าได้  เป็นบรรณฐานที่มักจะตั้งไว้ในตำแหน่งกลางวัด เข้าใจว่าเพื่อให้พระสงฆ์หรือสังฆานุกรที่อ่านพระคัมภีร์ และพระวรสาร และให้บทเทศน์ สามารถอ่านและเทศน์จากตำแหน่งที่ทุกคนในวัดสามารถมองเห็นและได้ยินได้ เนื่องจากว่า ในสมัยก่อนยังไม่มีเครื่องขยายเสียงมาช่วยในพิธีกรรมเหมือนในสมัยนี้  บรรณฐานเดิมของวัดนี้ สร้างขึ้นด้วยไม้ ที่มีรูปทรงใหญ่โตและงามสง่า ประดับด้วยลายฉลุรอบตัว และครอบด้วยหลังคาอันงดงามเพื่อเพิ่มความสง่างาม สมกับเป็นที่ประกาศพระวาจาของพระเจ้า มีรูปสัญญลักษณ์ของผู้นิพนธ์พระวรสารทั้งสี่ประดับอยู่โดยรอบ เพื่อบ่งบอกถึงภารกิจของตัวบรรณฐานเอง  ปัจจุบัน ไม่สะดวกที่จะใช้บรรณฐานเดิมนี้อีกต่อไป เพราะมีเครื่องขยายเสียงเข้ามาช่วยและทำให้การประกาศพระวาจาจากด้านหน้าซึ่งทุกคนมองเห็นได้ชัดมากกว่าเป็นสิ่งที่เพิ่มความงดงามให้แก่พิธีกรรมได้ดีกว่า  เนื่องจากช่วยให้จังหวะจะโคนของพิธีกรรมดำเนินไปตามลำดับอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม

บรรณฐานปัจจุบัน

บรรณฐานปัจจุบัน

จาก general instruction of the Roman Missal  กำหนดว่า  ศักดิ์ศรีของพระวาจาของพระเจ้า  เรียกร้องให้วัดมีสถานที่อันเหมาะสมเพื่อการประกาศพระวาจา    โดยที่หมู่คริสตชนในวัดทั้งหมดสามารถพุ่งความสนใจไปหาได้อย่างเป็นธรรมชาติในระหว่างวจนพิธีกรรม

นอกนั้น ยังกำหนดว่า แท่นพระวาจาหรือบรรณฐานนี้ควรต้องเป็นบรรณฐานที่มั่นคงถาวร มิใช่จะเป็นแบบที่จะเคลื่อนย้ายไปไหนต่อไหนได้โดยง่าย บรรณฐานยังต้องมีเพียง 1 ที่เท่านั้น ซึ่งต้องตั้งอยู่ในเขตสักการสถาน ใกล้กับพระแท่น เหมาะสมสำหรับประธานในพิธีเพื่อสื่อภาควจนพิธีกรรมให้เด่นชัด  และรูปแบบศิลปะและวัสดุของบรรณฐานควรออกแบบให้สอดคล้องกับพระแท่น

ที่สำคัญคือ บรรณฐานสงวนไว้สำหรับ อ่านบทอ่านจากพระคัมภีร์ ขับร้องเพลงสดุดีและสร้อยตอบรับ ขับร้องการประกาศสมโภชปัสกา และยังอาจใช้เป็นที่เทศน์และอ่านเจตนาในบทภาวนาของมวลชนได้อีกด้วย ศักดิ์ศรีของบรรณฐานเรียกร้องให้มีแต่ผู้รับใช้พระวาจาเท่านั้นที่ขึ้นไปได้(ข้อ309)

ด้วยความเข้าใจต่อเจตนาของจารีตพิธีกรรมเช่นนี้ สภาอภิบาลของวัด โดยคุณสธน นิทัศนจารุกุล ผู้อำนวยการสภาฯ จึงมีความเห็นชอบที่จะสร้างบรรณฐานของวัดใหม่ให้เหมาะสมกว่าบรรณฐานไม้รูปทรงแท่งเหลี่ยม   ซึ่งมีอยู่ 2 ตัว  โดยใช้สำหรับอ่านพระวาจา 1 ตัว และใช้สำหรับประธานในพิธี ในการเริ่มบทนำและลงท้ายมิสซาอีก 1 ตัว ในการนี้ มอบหมายให้นางสาวขัตติยา เล้ากอบกุล (เอิน) เป็นผู้ออกแบบ เพื่อให้บรรณฐานใหม่นี้ทำด้วยหินอ่อน เช่นเดียวกับพระแท่นบูชา ให้ตั้งอยู่ใกล้พระแท่นบูชา และมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อความสง่างาม และตั้งในตำแหน่งสูงขึ้นเพื่อความเด่นชัด และได้ว่าจ้างร้าน วิษณุหินอ่อน สระบุรี เป็นผู้ดำเนินการ ให้ร้านอภิชาติ ถนนสายไม้ บางโพ เป็นผู้แกะสลักรูปสัญญลักษณ์ทั้งสี่ของผู้นิพนธ์พระวรสาร

บรรณฐานปัจจุบันนี้ ติดตั้งเสร็จสมบูรณ์ ในวันเสาร์ที่ 20 กันยายน 2008 และได้รับการเสกในวันเดียวกัน

           พ่อถือโอกาสนี้ ให้คำอธิบายถึงสัญลักษณ์ของผู้นิพนธ์พระวรสารทั้งสี่ ตามที่ปรากฏอยู่ด้านหน้าของบรรณฐานใหม่นี้ด้วย
ภาพที่ปรากฏอยู่นั้นก็คือ รูปคนมีปีก, รูปสิงโตมีปีก, รูปวัวมีปีก และรูปนกอินทร อันที่จริง ภาพพจน์เหล่านี้ มีที่มา จากพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ในหนังสือประกาศกเอเสเคียล 1,5และ10:
           “รูปร่างของสัตว์นั้นเป็นเช่นนี้คือ มีสัณฐานเหมือนมนุษย์ แต่สัตว์ทุกตัวมีหน้าสี่หน้า และมีปีกสี่ปีกทุกตัว……สัณฐานหน้าของมันทุกตัวมีหน้าเหมือนหน้าคน สัตว์ทั้งสี่มีหน้าสิงห์อยู่ด้านขวา มีหน้าวัวอยู่ด้านซ้าย มีหน้านกอินทรีอยู่ด้านหลัง”
เมื่อกลับมาพิจารณา สิ่งที่พระวรสารทั้งสี่ต้องการสื่อความหมายแห่งความรอด จึงปรากฏความสอดคล้องตามแง่มุมต่างๆดังนี้

คนมีปีก เป็นสัญลักษณ์ของนักบุญมัทธิว

             นักบุญมัทธิวเริ่มต้นพระวรสารของท่านด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับการลำดับพระวงศ์ของพระเยซูเจ้า เพื่อแสดงให้เห็นความเป็นมนุษย์แท้ของพระองค์ นั่นคือการรับเอาเนื้อหนังมนุษย์ของพระบุตรของพระเจ้า 
             ข้อเตือนใจคือ เหตุผลเป็นคุณลักษณะของผู้เป็นคนหรือเป็นมนุษย์  พระวรสารโดยนักบุญมัทธิวจึงเตือนใจเราคริสตชนว่า

               คริสตชนต้องใช้เหตุผลเพื่อไปสู่ความรอด มิใช่เอาแต่รอคอยอัศจรรย์ หรืองมงายกับเรื่องทางไสยศาสตร์
 

 

สิงโตมีปีก เป็นสัญลักษณ์ของนักบุญมารโก

             นักบุญมารโกเริ่มต้นพระวรสารของท่านด้วยเรื่องราวของยอห์นบัปติสต์ “เสียงร้องในถิ่นทุรกันดาร” ดัง เสียงของ “สิงโตคำราม”
ยอห์นเป็นผู้นำหน้าพระเยซูเจ้า ยอห์นจึงนำทางไปสู่ความคิดเรื่องพระเยซูเจ้าเป็นดั่งสิงโต ลักษณะในธรรมชาติของสิงโตคือเป็นเจ้าปกครองแห่งป่าหรือในอาณาจักรของมัน นั่นคือนักบุญมารโก ต้องการแสดงถึง ความเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้าในพระอาณาจักรของพระองค์ นอกจากนั้น ยังมีความคิดเชิงประยุกต์จากความเชื่อท้องถิ่นโบราณว่า สิงโตเมื่อมันนอนหลับในถ้ำ มันจะนอนพร้อมกับเปิดตาไว้ด้วย หมายความถึง พระคริสตเจ้าเมื่อถูกฝังในคูหา ก็ถูกฝังไว้พร้อมกับการที่พระองค์จะกลับคืนชีพจากความตาย  ความคิดเรื่องการกลับคืนชีพจากความตายจึงแฝงไว้ในความคิดเรื่องของสิงโตนี้ด้วย
      


ข้อเตือนใจ คือ สิงโตมีลักษณะของความกล้าหาญ พระวรสารโดยนักบุญมารโกเตือนใจเราคริสตชนว่า คริสตชนต้องใช้ความกล้าหาญเพื่อไปสู่ความรอด อันที่จริงเรื่องนี้สามารถดูจากชีวิตของนักบุญยอห์นบัปติสต์เอง ซึ่งใช้ความกล้าหาญในการเตือนกษัตริย์เฮรอด เมื่อพระองค์ทำผิดในการรับเอาภรรยาของน้องชายมาเป็นภรรยาของตน และที่สุดท่านยืนยันเรื่องนี้ด้วยชีวิตของท่านเอง ความกล้าหาญของคริสตชน คือการเป็นพยานถึงพระคริสตเจ้าหรือความถูกต้องดีงาม และที่สำคัญ คือ ความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนจิตใจตนเองให้หันหนีจากความผิดบาปต่างๆ

 

 

วัวมีปีก เป็นสัญลักษณ์ของนักบุญลูกา

               นักบุญลูกาเริ่มต้นพระวรสารของท่านด้วยเรื่องของเศคาริยาห์ ถวายบูชาในพระวิหารตามหน้าที่ของตน  วัวเป็นเครื่องหมายของสัตว์ที่ถูกนำไปฆ่าบูชา ผู้ถวายคือสงฆ์
นักบุญลูกา ต้องการแสดงให้เห็นถึงความเป็นสงฆ์ของพระคริสตเจ้า โดยที่พระองค์ถวายพระองค์เองเป็นเครื่องบูชาเพื่อไถ่บาปมนุษยชาติ
               ข้อเตือนใจ คือ วัวเป็นสัญลักษณ์ของบูชาหรือการเสียสละ พระวรสารโดยนักบุญลูกาเตือนใจเราคริสตชนว่า
               คริสตชนต้องใช้การอุทิศตนและการเสียสละต่างๆในชีวิตเพื่อนำไปสู่ความรอด  และเรื่องราวของพระนางมารีอา ก็เป็นตัวอย่างอันงดงามในเรื่องของการนอบน้อมต่อน้ำพระทัย และการรับใช้ด้วย

 

 

นกอินทรี เป็นสัญลักษณ์ของนักยุญยอห์น อัครสาวก

ืืืืืืืืืืืืื                  นักบุญยอห์นเริ่มต้นพระวรสารของท่านด้วยเรื่องของพระวจนาตถ์ ผู้ทรงสร้างสรรค์พสิ่งในโลก เป็นความสว่างและต้นกำเนิดแห่งสิ่งทั้งหลาย อาจพูดได้ว่าท่านเริ่มพระวรสารด้วยเรื่องจากฟ้า ซึ่งหมายถึงพระผู้เป็นเจ้า ลักษณะของพระวรสารจึงเป็นเหมือนเทววิทยาที่เข้าใจยากสักหน่อย บางทีท่านประสงค์จะนำผู้อ่านพระวรสารของท่านไปสู่ความคิดเรื่องการเสด็จขึ้นสวรค์ของพระเยซูเจ้าด้วย หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือท่านกำลังแสดงให้เห็นถึงพระธรรมชาติพระเจ้าของพระเยซูเจ้านั่นเอง

ข้อเตือนใจ คือ นกอินทรีบินอยู่บนท้องฟ้าสูง เมื่อมองนกอินทรีเหมือนนำเรามุ่งหวังไปสู่สวรรค์ พระวรสารโดยนักบุญยอห์นเตือนใจเราว่า
                 คริสตชนต้องมุ่งไปสู่ชีวิตนิรันดรด้วยจิตใจจดจ่อเพื่อจะได้รับความรอด เพราะมิฉะนั้นเราจะมัวหมกมุ่งและสลวนกับเรื่องฝ่ายโลกนี้